ทำไมหนูเรียนไม่เก่ง?
ถ้าเลือกเกิดได้ เด็กทุกคนคงอยากเกิดมาเรียนเก่ง พ่อแม่จะได้ชื่นชม ไม่มีใครอยากเกิดมาเรียนโง่ /เรียนอ่อน สาเหตุที่ทำให้เด็กเรียนไม่เก่งมี ดังต่อไปนี้
ก. สาเหตุที่ตัวเด็ก
1. สาเหตุด้านร่างกายและสติปัญญา ได้แก่
1.1 เด็กที่มีภูมิปัญญาบกพร่อง พัฒนาการล่าช้ามาตั้งแต่เด็กเล็ก เช่น เดินได้ช้า พูดได้ช้า ทำให้เรียนตามเพื่อนไม่ทันหรือหัวช้า
1.2 เด็กที่ฉลาดดี รู้เรื่องทุกอย่าง ไหวพริบดี แต่มีความยากลำบากในการอ่าน เขียน หรือวิชาคณิตศาสตร์ วิชาใดวิชาหนึ่งหรือหลายวิชา เรียกว่า ความบกพร่องของทักษะในการเรียน (Learning disorder) ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองบางส่วน ทำให้เด็กทำไม่ได้ แม้จะพยายามแล้วก็ตาม
1.3 เด็กที่มีความผิดปกติของประสาทสัมผัส เช่น ความผิดปกติของสายตา การได้ยินหรือความพิการที่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเรียน
1.4 เด็กที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต หรือโรคที่มีผลกระทบต่อสมอง ทำให้เด็กต้องขาดเรียนบ่อย ทำให้เรียนช้า ไม่ทันเพื่อน
1.5 เด็กซน-สมาธิสั้น ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมองบางส่วน ทำให้เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน วอกแวกง่าย ซน อยู่ไม่นิ่ง ทำให้มีปัญหาด้านการเรียน
1.6 เด็กปัญญาเลิศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักถูกมองข้ามเนื่องจากเด็กฉลาดเกินวัย มีความคิดสร้างสรรค์หรือมีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน ทำให้เด็กขาดความสนใจในห้องเรียนเนื่องจากไม่ตรงกับความสนใจของเด็ก
2. สาเหตุด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล อาการทางจิต ทำให้ขัดขวางการเรียนรู้ของเด็ก
3. สาเหตุจากลักษณะเฉพาะของเด็ก เช่น ขาดแรงจูงใจในการเรียน รักสบาย
ข. สาเหตุภายนอกตัวเด็ก ได้แก่
1. ปัญหาภายในครอบครัว เช่น ครอบครัวปล่อยปะละเลย ไม่สนใจเรื่องการเรียนของเด็ก หรือตามใจมากเกินไป ครอบครัวที่ใช้แรงงานเด็กเพื่อช่วยหารายได้ ทำให้ขาดโอกาสในการเรียน
2. ปัญหาของโรงเรียน เช่น ระบบของโรงเรียนปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครูและกับเพื่อน พบว่าเด็กที่ขาดความสัมพันธ์อันดีกับครู มีการเปลี่ยนครูบ่อย เข้ากับเพื่อนไม่ได้ รังแกเพื่อนหรือถูกเพื่อนข่มขู่ รังแก อาจมีผลกระทบต่อการเรียนได้
ผู้ปกครองจะช่วยเหลืออย่างไร
1. ทำความเข้าใจปัญหาโดยสาเหตุและแก้ไขให้ตรงจุดซึ่งอาจขอความช่วยเหลือเพิ่มจากครูหรือปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือเด็กต่อไป
2. มีความคาดหวังต่อการเรียนของเด็กให้สอดคล้องกับความสามารถที่แท้จริงของเด็ก
3. เพิ่มความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่ลูก เช่น ไม่ตำหนิ เปรียบเทียบ ประชดประชันหรือจับผิด ให้อิสระในเรื่องส่วนตัวพอควร เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กคิดและตัดสินใจ
4. จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเรียน เช่น ชั้นการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กหูหนวก ตาบอด เชาว์ปัญญาช้าหรือการเรียนพิเศษเฉพาะด้าน
5. สร้างบรรยากาศในการเรียนให้น่าสนใจ เหมาะกับวัยของเด็ก
6. พัฒนาคุณสมบัติอื่นที่เอื้ออำนวยต่อการเรียน เช่น ส่งเสริมให้ช่วยเหลือตนเองและงานบ้านเพื่อเด็กจะได้มีความรับผิดชอบ ขยันและอดทน
7. ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ เช่น การเข้าใจและยอมรับตัวเองและผู้อื่นที่ไม่ใช่การเรียนเท่านั้น ส่งเสริมตามความสนใจของเด็ก เช่น งานประดิษฐ์ ดนตรี กีฬา ศิลปะ ทำอาหาร
8. ชื่นชมเมื่อเด็กพยายาม ให้ความสนใจ และรับผิดชอบต่อการเรียน ให้กำลังใจให้เด็กอย่างสม่ำเสมอ